ยุง

ความรู้เกี่ยวกับยุง

ในโลกนี้มียุงกว่า 4,000 ชนิดจัดอยู่ในอันดับ Diptera วงศ์ Culicidae ยุงบางชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่นยุงลายAedes aegypti และAe. albopictus นำโรคไข้เลือดออก (Dengue haemorrhagic fever) ไข้ชิคุนกุนยา  ยุงCulex tritaeniorhynchus นำโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) ยุงก้นปล่องนำโรคมาลาเรีย (Malaria) และยุงเสือนำโรคฟีลาเรีย (Filariasis) หรือโรคเท้าช้างโรคที่กล่าวมานี้เกิดในคนส่วนในสัตว์นั้นยุงก็มีความสำคัญมากเช่นกันเนื่องจากเป็นตัวนำโรคต่างๆหลายชนิดในสัตว์เช่นยุงรำคาญCulex quinquefasciatus นำโรคพยาธิหัวใจสุนัขมาลาเรียในนกยุงบางชนิดชอบกัดวัวทำให้น้ำหนักวัวลดและผลิตนมได้น้อยลงนอกจากเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลือดอุ่นแล้วยุงยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลือดเย็นอีกด้วย

ยุงมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosisหรือ holometabola) การเจริญเติบโตในแต่ละระยะต้องมีการลอกคราบ (molting) ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิดคือ brain hormone, ecdysone และ juvenile hormoneรูปร่างในแต่ละระยะแตกต่างกันมากแบ่งเป็น 4 ระยะคือระยะไข่ (egg) ระยะลูกน้ำ (larva)ระยะตัวโม่ง (pupa) และระยะตัวเต็มวัย (adult)

 

  ยุงที่มีความสำคัญทางการแพทย์และพบปัญหามากในประเทศไทย  


     ยุงลายบ้าน(Aedes aegypti)

            เป็นตัวการสำคัญในการนำโรคไข้เลือดออกและไข้ชิคุนกุนยาในประเทศไทย (ทางอเมริกาใต้แอฟริกานำไข้เหลือง yellow fever) มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาชอบอาศัยอยู่ในบ้านหรือ บริเวณรอบๆบ้านแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายเช่น ตุ่มน้ำถังซีเมนต์ใส่น้ำ บ่อคอนกรีตในห้องน้ำ, จานรองขาตู้กันมด, ยางรถยนต์เก่าๆ, กระป๋อง, แจกัน, รางน้ำฝนที่มีน้ำขัง, กะลามะพร้าว, กาบใบต้นไม้, รูต้นไม้  ยุงลายมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) เช่นเดียวกับยุงชนิดอื่นการเจริญเติบโตแบ่งเป็น 4 ระยะคือ

1. ไข่ (egg) ยุงลายจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆติดไว้ที่ผนังด้านในเหนือระดับน้ำบริเวณที่ชื้นๆไข่ใหม่มีสีขาวต่อมาประมาณ 12-24 ชั่วโมงจะเปลี่ยนเป็นสีดำระยะฟักตัวในไข่ประมาณ 2.5-3.5 วัน  ในสภาพความชื้นสูงและอุณหภูมิประมาณ 28-30สามารถอยู่ในที่แห้งได้นานเป็นปีเมื่อระดับน้ำท่วมไข่จึงฟักตัวออกมาเป็นลูกน้ำ

2. ลูกน้ำ (larva) หลังจากออกจากไข่แล้วลูกน้ำเริ่มกินอาหารมีการเจริญเติบโตและลอกคราบ 4 ครั้ง ระยะในการลอกคราบแต่ละครั้งเรียกว่า instar เช่นลูกน้ำที่ฟักออกจากไข่ เรียกว่า first instar เมื่อลอกคราบต่อไปกลายเป็น second instar ลูกน้ำใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 7-10 วัน ลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่งหรือดักแด้

3. ตัวโม่ง (pupa) ระยะนี้ตัวจะโค้งงอไม่มีการกินอาหารชอบลอยติดกับผิวน้ำ ใช้เวลา 1-2 วันจึงลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย

4. ตัวเต็มวัย (adult) เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 24 ชั่วโมงตัวเมียผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว  แต่วางไข่ได้หลายครั้งส่วนตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง  หลังจากนั้นยุงตัวเมียจะออกกินเลือด  ยุงลายชอบกินเลือดคนและหากินในเวลากลางวัน  บางครั้งยุงลายอาจกัดคนในเวลากลางคืนแต่เป็นภาวะจำเป็นเช่นไม่พบเหยื่อในเวลากลางวันหลังจากกินเลือดอิ่มแล้วยุงตัวเมียจะไปเกาะพักรอให้ไข่เจริญเติบโตเรียกช่วงนี้ว่า gonotrophic cycle  ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2.5-3.5 วัน  แหล่งเกาะพักของยุงลายได้แก่บริเวณที่มืดอับลมในห้องน้ำ ในบ้านโดยเฉพาะตามสิ่งห้อยแขวนภายในบ้านเช่น เสื้อผ้า มุ้ง ม่าน หลังจากไข่เจริญเต็มที่ แล้วจะบินไปหาที่วางไข่ชอบที่ร่มน้ำที่มีใบไม้ร่วงลงไปและมีสีน้ำตาลๆจะกระตุ้นการวางไข่ได้ดีแต่ยุงลายไม่ชอบน้ำที่มีกลิ่นเหม็น


     ยุงลายสวน (Aedes albopictus)

            ยุงลายชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียลักษณะคล้ายคลึงกับ ยุงAe. aegypti มาก  แต่สังเกตได้จากเกล็ดสีขาวบนด้านหลังของอกไม่เป็นรูปเคียว  แต่เป็นเส้นตรงเส้นเดียวพาดตามยาวตรงกลางอุปนิสัยความเป็นอยู่คล้ายยุงลายบ้าน  แต่มักพบอยู่ในชนบทแหล่งน้ำที่ใช้เพาะพันธุ์มักจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติในสวนผลไม้  สวนยาง  อุทยานต่างๆ เช่น โพรงไม้,กระบอกไม้ไผ่, ลูกมะพร้าว, กะลา, กระป๋อง, ขวดพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ยุงลายสวนบินได้ไกลกว่ายุงลายบ้าน ยุงชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญในการนำเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกและไข้ชิคุนกุนยาได้เช่นเดียวกัน


     ยุงรำคาญ(Culex quinquefasciatus)

            พบมากในแอฟริกาและเอเชียวางไข่เป็นแพในน้ำเน่าเสียแหล่งเพาะพันธุ์มักอยู่ใกล้บ้านไข่แพหนึ่งมีประมาณ 200-250 ฟองที่อุณหภูมิ 24-30 องศาเซลเซียส ไข่ฟักภายใน 30 ชั่วโมงออกหากินกลางคืนชอบกินเลือดคนในประเทศพม่าอินเดียอินโดนีเซียยุงชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญในการนำโรคฟิลาเรียสำหรับประเทศไทยพบว่ายุงชนิดนี้สามารถนำเชื้อฟิลาเรียได้เช่นกันแต่การศึกษาเรื่องนี้ในสภาพธรรมชาติยังมีข้อมูลน้อยนอกจากนี้ยุงอาจทำให้มีอาการคันแพ้และเกิดเป็นแผลพุพองได้ในบริเวณที่ถูกยุงกัดและใกล้เคียง

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2